สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 354  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๕๒ หรือมาตรา ๓๕๓ ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8651/2558

 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" เช่นนี้ แม้โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้โจทก์ทั้งสามตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นการส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ บ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 ในการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. จำเลยที่ 2 เป็นผู้เตรียมเอกสารและจัดหาทนายความแก่จำเลยที่ 1 และวันที่ไปโอนทรัพย์มรดกของ บ. ที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนด้วยตนเองจนแล้วเสร็จ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันโดยสมคบกันมาก่อน โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพียงลำพัง แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการได้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์มรดกของ บ. มิได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12557/2555

การกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 354 จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดได้กระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนมาด้วย เป็นเพียงประโยคประกอบซึ่งโจทก์ขยายความออกไปตามความเข้าใจของโจทก์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดว่า จำเลยกระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร